ข้างเคียง

ท้าวความถึงคำว่าตลาดอาริยะนั้นคืออะไร

ตลาดอาริยะ คือตลาดที่ขายของขาดทุน ทวนกระแสสังคมทุนนิยม ที่มีแต่มุ่งหวังจะกอบโกยผลประโยชน์ ผลกำไรเข้าตนมากๆ แต่การจัดงานตลาดอาริยะ ทำเพื่อให้ไม่เอา หวังแจกจ่ายของมีคุณภาพในราคาที่ต่ำ เพื่อให้ชาวบ้านที่มีรายได้น้อยได้เลือกใช้ของที่ราคาถูกได้ ตลาดอาริยะคือการขายของในทฤษฎีบุญนิยม ระดับที่ 3 คือการขายของขาดทุนยิ่งขาดทุนได้มาก ยิ่งเป็นกำไรมากนั่นคือของจริงของบุญนิยม ตลาดอาริยะจะจัดในช่วงปีใหม่ของทุกปี เป็นการมารวมตัวของชาวอโศกเพื่อจัดงานนี้ และเป็นการสังสรรไปในตัว งานปีใหม่ตลาดอาริยะนี้ มีการจัดงานคือ ช่วงกลางวันจะมีการขายของคือในโซนตลาดอาริยะ และตลาดอาหาร ช่วงเย็นจะเป็นกิจกรรมที่เวทีธรรมชาติ ที่เป็นการแสดงของเครือข่ายชาวอโศกทั่วประเทศ

แล้วกำเนิดตลาดล่ะ

งานปีใหม่ตลาดอาริยะจัดครั้งแรกเลยนั้น เมื่อปี พ.ศ.2523 ที่สันติอโศก (ตัวหนูก็อยากจะเล่าบรรยากาศว่าเป็นอย่างไรแต่ก็เสียใจที่เกิดไม่ทัน ถามผู้ใหญ่หลายๆท่านก็บอกว่าปีที่่เริ่มงานยังไม่รู้จักชาวอโศก บ้างก็จำไม่ได้แล้ว)และในปี พ.ศ.2527ได้ย้ายสถานที่ไปจัดงานที่ปฐมอโศก เนื่องจากพื้นที่ในการจัดงานที่สันติอโศกแคบเกินไป จัดที่ปฐมอโศกได้ 13 ปี ก็ต้องย้ายพื้นที่การจัดงานมาเป็นที่ราชธานีอโศกในปี พ.ศ.2541หลังจากนั้นก็จัดที่ราชธานีอโศกเรื่อยมาบรรยากาศก็คึกคักเหมือนในรูป แล้วต่อมาหนูจะเสนออะไรก็ยังงงๆ คือหนูจะบอกว่า

มันมีการเปลี่ยนแปลงคือ 2 ปีที่ผ่านมา(ปี’53 ปี’54) ไม่ได้จัดงานเหมือนทุกๆปี เนื่องจากเกิดภัยธรรมชาติ คือหมู่บ้านราชธานีถูกน้ำท่วม ลดไม่ทันการเตรียมงาน ในปี’53 การจัดงานจึงเป็นการจัดงานเล็กๆ สังสรรกันในชาวอโศกเรา แต่เมื่อปี’54เป็นการจัดงานตลาดอาริยะแบบสัญจร คือไปหลายๆที่ ก็จะมี 1.หาดใหญ่ จ.สงขลา 2.ร้อยเอ็ดอโศก จ.ร้อยเอ็ด 3.สีมาอโศก จ.นครราชสีมา แต่ที่จะบอกคือในปีนี้(2555)จะกลับมาจัดที่บ้านราชฯแต่การจัดงานจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะปีนี้มันเป็นปีพิเศษคือปี2012 วันโลกาวินาศ (เกี่ยวมั๊ยเนี้ย!)

งานปีใหม่ตลาดอาริยะจะเปลี่ยนแปลงอะไร เปลี่ยนแปลงอย่างไรคอยติดตามตอนหน้านะคะ    ขอบคุณภาพจากหนังสือ โพธิรักษ์-โพธิกิจ ค่ะ

เรื่องโดย น.ส.ขวัญข้าว อัมพุช สัมมาสิกขาราชธานีอโศก ม.5

ข้างเคียง

หลังจากได้หัวข้อใหม่ในการเขียนเรื่อง ก็มาตีความว่าเรื่องที่เราจะเขียนหมายความว่าอย่างไร ครั้งนี้มาดูเรื่องสาธารณโภคี ไปลองเปิดพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานหาความหมายดู และก็ได้ความหมายมาว่า สาธารณะ คือเพื่อประชาชนทั่วไป ร่วมกัน ส่วนโภคี คือผู้บริโภค และเมื่อนำมารวมกัน จึงกลายเป็นสาธารณโภคีที่แปลว่าการบริโภคร่วมกัน                               ระบบการบริหารเเบบสาธารณโภคี คือการบริหารชุมชนโดยทุกคนเป็นเสมือนครอบครัวเดียวกัน กินใช้ของส่วนกลาง ช่วยกันหาช่วยกันทำ แล้วนำมารวมไว้ ส่วนกลางแบ่งปันแจกจ่ายใช้สอยร่วมกัน เป็นระบบที่ทุกคนไม่มีเป็นเจ้าของ หรือเป็นของส่วนตัว มีแต่ส่วนกลาง ส่วนกลางรวยไม่ขาดแขลน ส่วนตัวจนไม่สะสม

หลังจากหาคำว่าสาธารณโภคีสำหรับตัวหนูเอง ไม่ค่อยเข้าใจแบบแจ่มชัดนักจึงนั่งคิด นอนคิด เดินคิดแล้ว แต่ก็ยังไม่เข้าใจเท่าไหรนักว่าจะนำเสนออย่างไรให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ผ่านไป2วันแล้วภาพก็ยังไม่ได้ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร แล้วอยู่ก็มีเสียงสวรรค์ คือเทศน์จากสิกขมาตุกล้าข้ามฝัน(นักบวชฝ่ายหญิง)ท่านบอกว่า การที่เราจะได้เห็นแง่มุมดีๆคือการที่เราต้องทดลองทำในสิ่งนั้นๆ  ตัวหนูจึงมีคงวามคิดว่า เราต้องปฏิบัติในสิ่งที่เราจะเขียนเรื่อง ออกไปไม่เช่นนั้นตัวเราก็จะไม่เข้าใจ และไม่สามารถถ่ายทอดออกไปได้ หนูเลยคิดว่าในบ้านราชของเรามีสิ่งที่บริโภคครบพร้อม แต่ทุกๆคนไม่มีรายได้ แล้วสิ่งที่จำเป็นข้าว ผ้า ยา บ้าน นั้นนำมาจากไหน เครื่องนุ่งห่มเราก็เบิกจากกองกลาง ยารักษาโรค ก็ได้จากบ้านสุขภาพที่เปรียบเสมือน โรงพยาบาลชุมชน แล้วอาหารก็คือการที่มีฐานกสิกรรมต่างๆให้เราเก็บพืช ผักธัญญาหารนำมาทำกิน

แต่ก็อย่าลืมว่าในยุคปัจจุบันนี้ ข้าวของทุกสิ่งทุกอย่างต้องซื้อมาด้วยเงินทั้งสิ้น เช่นการที่จะมีเสื้อผ้าแจกจายไห้ชุมชนก็ต้องซื้อผ้ามาตัด การที่จะมีรถขับขี่ ก็ต้องมีน้ำมันมาเติมรถ ซึ่งเราก็ไม่ได้ขุดเจาะขึ้นมาเอง และอีกหลายๆอย่าง แล้วพวกเราทำอย่างไรจึงจะมีกระดาษที่สมมุติขึ้นมาว่ามีค่า(ที่เรียกว่า”ธนบัตร”) ใช้ได้อย่างเพียงพอต่อคนเป็นร้อย ที่หนูนึกได้ในตอนนี้ก็มีฐานงานโรงปุ๋ย และอุทยานบุญนิยมซึ่งเป็นร้านอาหาร และขายผลิตภัณฑ์ชุมชน แต่ตอนนี้ไม่มีสภาวะที่จะถ่ายทอดได้

ตัวหนูจึงทดลองนำตัวเองเข้าไปเรียนรู้ ณ จุดๆนั้นที่หนูอยากทำความเข้าใจให้แจ่มชัด หนูได้ไปทดลองทำงานฐานอุทยานบุณนิยเป็นฐานแรก ฐานนี้ต้องตื่นนอนดั้งแต่เช้าตรู่ เวลาตี 4 วันนั้นรู้สึกง่วงมากๆ นั่งรถไปตามถนนฝุ่นก็เยอะมาก ในช่วงที่ยังไม่ถึงถนนลาดยาง เมื่อถึงอุทยานตัวหนูได้เห็นภาพที่น่าประทับใจ คือนักเรียนและผู้ใหญ่จะช่วยกันขนของลงจากรถ จำพวกผักสด หม้อ ตระกร้า คนล่ะไม้คนล่ะมือ ไม่ได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง การทำงานร้านอาหารมีหลายแผนกแบ่งเป็นหั่นเตรียม แม่ครัว หน้าร้านน้ำธัญพืช ล้างภาชนะ และโรงทำขนมปัง ซาลาเปา ถึงร้านอุทยานทุกๆคนจะทำหน้าที่ของตัวเองและน้องทีมล้างภาชนะ ที่ยังไม่มีภาชนะให้ล้าง ก็จะช่วยเช็ดโต๊ะ และหั่นเตรียม

ฐานต่อมาที่ได้ไปร่วมงานคือฐานโรงปุ๋ย เนื่องในวันนั้นมีการโฮมแฮงกรอกปุ๋ยและขนปุ๋ยขึ้น

รถ ในการโฮมแฮงมีบุคคลากรหลายฐานะตั้งแต่สมุนพระราม(นักเรียนระดับชันประถมศึกษา) นักเรียนสัมมาสิกขา(ระดับมัธยม) ชาวชุมชน สิกขมาตุ สมณะ และพระอาคันตุกะ ทุกๆคนช่วยกันอย่างเต็มที่ ภาพที่เห็นคือ เมื่อมีใครว่างก็จะไปช่วยส่วนที่ขาดแรงงาน จึงทำให้การขนปุ๋ยวันนี้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว และตามเป้าหมาย

วันต่อมามานั่งเหม่อในฐาน คิดว่าขาดอะไรในเรื่องที่เราจะสื่อ นั่งทบทวนดูแล้วคิดได้ว่าขาดในเรื่องปัจจัยการใช้ชีวิต คือเรื่องอาหาร การผลิตอาหารให้เพียงพอต่อทุกคนในชุมชน เดินไปดูบริเวณโรงครัว เห็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ช่วยกันหั่นผัก เด็ดผัก ปอกหอมปอกกระเทียม เพื่อนำไปทำอาหาร

บางคนนั่งตากแดดเพราะในช่วงนี้อากาศเย็นๆ หนูเห็นภาพเเล้วรู้สึกประทับใจดี จึงยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพคุณยายบอกว่า “มาถ่ายทำไมผู้เฒ่า ไปถ่ายผู้สาวนู้น มาถ่ายผู้เฒ่า บ่ สวยดอก”   หนูได้ถามยายว่าทำไมได้มาช่วยงานตรงนี้(เพราะว่าคุณยายแต่ละท่าน ก็อายุเกิน 65 กันทั้งนั้น) คุณยายบอกว่า “มาช่วยกันอยู่บ้านก็ว่างมาช่วยงานเล็กๆน้อยที่พอทำได้ ก็ได้มาเจอเพื่อนด้วย” คุณยายแต่ละท่านบ้านก็อยู่ท้ายชุมชน ก็เดินมาตั้งแต่เช้าบางท่านเดินไม่ไหวก็ให้ลูกหลานมาส่ง เพื่อมาช่วยงานที่โรงครัวกัน  ในโรงครัวก็มีพืชผักมากมาย ที่เก็บมาจากสวนในชุมชน แต่ก็มีบางอย่างที่เราไม่ได้ปลูกก็ซื้อมาจากตลาดบ้าง วันต่อมาก่อนจะเข้าฐานได้ยินเสียงประกาศ ว่าจะโฮมแฮงการเตรียมพืนที่ปลูกถั่ว จึงเป็นจุดที่พอดีกับการที่หนูกะจะไปเก็บภาพบรรยากาศ ของฐานกสิกรรมจึงเป็นผลดีกับการทำงานของหนูด้วย

เช้านี้โฮมแฮงเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกถั่วฝักยาว ให้ทันงานปลุกเสก มีนักเรียนหลายฐานมาช่วยกัน 19 คน เเละผู้ใหญ่ 12 คน เช้านี้การเตรียมพื้นที่กว่าครึ่งไร่จึงสำเร็จภายใน 1 ชั่วโมงกว่าๆ ตัวหนูรู้สึกว่าถึงงานจะหนัก จะเหนื่อย แต่ก็มีความสุข เพราะเห็นการเสียสละของทุกๆคน เพราะหลายๆท่านก็มีงานในฐาน แต่ก็เสียสละเวลามาช่วยสิ่งที่สำคัญกว่า

ในเรื่องที่หนูได้ไปเห็นและได้เก็บมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวนี้ นี่แหละค่ะที่หนูเห็นว่ามันคือสาธารณโภคี คือการช่วยเหลือพึ่งพากันในหมู่คนชุมชนนั้นๆ มีคนเคยบอกหนูว่า นี่แหละคือระบบที่สุดยอด หนูมาคิด ก็คิดว่าดีจริง แต่ก็มีจุดด้อยอยู่ในระบบนี้อยู่ คือการดูแลรักษาข้าวของของส่วนกลาง ไม่มีใครรับผิดชอบ เพราะคิดว่าเป็นของส่วนกลาง เช่นภาชนะส่วนกลางอุปกรณ์ต่างๆ รถแข็น  รถยนต์ ถ้าดูแลรักษาไม่ดีก็พังไว หายบ้าง หาไม่เจอเมื่อจะใช้เพราะไม่รู้ว่าใครรับผิดชอบ ต้องประกาศหาของเสมอๆ ถ้าไม่เจอก็ต้องซื้อใหม่ นี่จึงเป็นจุดด้อยของระบบสาธารณโภคี ที่หนูได้ใช้ชีวิตอยู่ตรงนี้ ในระบบสาธารณโภคีนี้ มีทั้งจุดดี และจุดด้อย  การพัฒนาจึงอยู่ที่ทุกๆคนช่วยเหลือซึ่งกันและกันช่วยกันปรับปรุง แก้ไขคนละเล็กละน้อยในสิ่งที่ยังด้อย สังคมสาธารณโภคีจึงจะพัฒนา

เรื่องและภาพโดย น.ส.ขวัญข้าว อัมพุช ม.5

ข้างเคียง

10/1/2012

จากคำแนะนำของอามดคือ ให้ไปดูทีมทำเรือที่ท้ายบุ่ง ลานเบิ่งฟ้า ผมก็เลยเดินไปที่ริมมูลก่อน เพราะอยากเห็นท่าเรือด้วยตาตัวเอง ฟังเค้าประชุมกันเมื่อวานแล้วนึกภาพไม่ค่อยออกเท่าไร

ช่วงนี้เพื่อนต่างโรงเรียนมีให้เห็นไปกันทั้งสันติฯ ศีรษะฯ ปฐมฯ ผมว่าช่วงนี้ผมมีสัมพันธ์อันดี กับเพื่อนต่างโรงเรียนมากกว่าช่วงค่ายยอส.(ค่ายยุวชนอโศกสัมพันธ์)ซะอีก ถึงจะไม่มากเท่าไรก็เถอะ บางคนอยู่ใกล้ก็ไม่เป็นไร บางคนก็แทบไม่ได้เห็นหน้า แต่บางคนก็ไม่ได้สนิทอะไรกันเท่าไรนัก

ผมเดินช้าๆ เก็บรายละเอียดริมทาง ดอกไม้ ใบหญ้า ก้อนหิน ท้องฟ้า หมู่เมฆ แมลงตัวเล็กๆ ผู้คนที่เดินสวนทางกัน รวมถึง เงาของผมที่ตกทอดไปตามถนน หากสังเกตดีๆ สิ่งเหล่านี้ก็ต่างมีความงาม มีประวัติศาสตร์บนตัวของมันเอง อยู่ที่เรา ว่าจะมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆที่รายรอบเราหรือไม่ เท่านั้นเอง

ผมเดินผ่านกุฏิสมณะ ผ่านสวน “สองโภชน์” (เปลี่ยนชื่อมาจาก สวน 100 ปี สาเหตุน่ะหรือ? ก็คือปลูกสักกี่ครั้งก็ไม่ถึง 100 ปีสักที น้องน้ำมาทีไรก็เอาไปกินหมดน่ะสิ) หมู่เมฆขาวล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า บดบังแสงแดด มอบร่มเงาให้แก่ริมมูลในช่วงเวลานี้

เรือกระแชง “แงกเบิ่งแหน่” ลงมาอยู่ริมฝั่งมูลแล้ว ผมหยุดยืนอยู่หน้าสะพาน ก่อนถึงริมมูล มองออกไปไกล ช่างสองสามคนกำลังทำงานป๊อกๆ แป๊กๆ อยู่บนเรือ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธีในวันพรุ่งนี้

พื้นที่บางแห่งยังมีน้ำขังอยู่เป็นหย่อมๆ รถไถแล่นไปตามท้องทุ่ง ไถพรวนดินให้ร่วนซุย เตรียมการลงยอดมันเทศ หญ้าข้างทางเริ่มฟื้นตัว หลังจากจากที่กินแต่น้ำมานาน นับเป็นครั้งแรกในปีนี้ที่ผมมาเยือนริมมูล

ท่าเรือทั้ง 7 ถูกสร้างขึ้นมาอย่างดูดีและเรียบง่าย มีเพียงเสาไม้ที่ปักลึกลงไปใต้น้ำและไม้กระดานที่วางพาดไว้ แต่คงไม่จำเป็นอะไรมากนักสำหรับเรือท้องแบน เพราะสามารถจอดแทบฝั่งแล้วกระโดดขึ้นได้ทันที

ผมเดินกลับมาจากริมมูล มุ่งไปตามทาง สู่ “ลานเบิ่งฟ้า” ระหว่างทางก็มีเรือเอี้ยมจุ๊น (เรือไม้ลำใหญ่ๆ ใหญ่มาก) จอดเกยตื้นอยู่ระหว่างทาง คับถนน ที่ต้องเอามาจอดกลางถนนก็เพราะ เมื่อเรือใหญ่หลายลำมาจอดก็ทำให้ลานเบิ่งฟ้าที่กว้างขวางดู “แคบ” ไปเลยทีเดียว มีเด็กคนหนึ่ง นั่งมองฟ้าอยู่บนกราบเรือ บ้านราชฯ มีงานใหญ่แบบนี้ก็คงหาที่เงียบๆ ยากล่ะนะ อืม.. แต่วันนี้ฟ้าก็สวยจริงๆ แฮะ

ที่ลานเบิ่งฟ้า ทั้งเรือกระแชง เรือเอี้ยมจุ๊น ต่างจอดเรียงกันเป็นแถวเป็นแนว บางลำก็บุโลหะใต้ท้องเรือเสร็จแล้ว บางก็มีวัชพืชขึ้นเต็ม ไม้ผุพังไปตามกาลเวลา ส่องขึ้นไปมองเห็นแสงเล็ดลอดลงมาจากฟ้าได้

เสียงติดเครื่องของเรือท้องแบน ฉุดผมให้วิ่งไปที่ริมตลิ่ง แหวกกอหญ้าออก เห็นเรือหางยาวแล่นแหวกห้วงน้ำ สร้างคลื่นเป็นแนวยาว ตามด้วยเรือท้องแบนทีละลำ สองลำ เพื่อนผมก็อยู่บนนั้นด้วยสองสามคน นี่คงเป็นแค่การซักซ้อมล่ะมั้ง? บางลำไปได้ไม่เท่าไรก็ กลับ บางลำก็ไปไกลสุดลูกหูลูกตา

ผมเดินไปตามทางลาดลงบุ่ง พอมีที่ให้เรือออกไปสู่สายน้ำแม่มูลได้ มีคนมาดูการซ้อมเรือเยอะพอสมควร ทีมนักเรียนปวช. ก็กำลังง่วนอยู่กับการเก็บรายละเอียดและเตรียมเชื้อเพลงสำรองสำหรับเรือท้องแบนอยู่ หน้าตารุ่นพี่แต่ละคนนี่ไร้สง่าราศี บางคนขอบตางี้ดำคล้ำมาแต่ไกล เชียว เพราะอดหลับอดนอน กรำงานหนักในการต่อเรือเดรียมเรือให้ทันวันงาน แต่ก็ยังพอมีรอยยิ้มให้เห็นอยู่บ้างเป็นบางครั้งบางคราว ส่วนคนขับเรือก็ทยอยกันออกไปทีละลำสองลำ

“อ้าว… ทุ่งดิน ไปเรียกน้องๆมาขัดพื้้นเรือหน่อยเร็ว หายไปไหนกันหมดเนี่ย?” เสียงท่านสมณะหินกลั่น(สมณะผู้ดูแล ปวช.) ออกคำสั่งแก่รุ่นพี่ปวช. ปี2 ดูสีหน้าพี่ทุ่งดินก็เครียดๆอยู่บ้างเหมือนกัน

“ที่จริง พวกพี่ก็ไม่ได้อยากมาทำงานดึกๆดื่นๆแบบนี้หรอก ทั้งปี1 ปี2นั่นแหละ มันเหนื่อย ไม่มีเวลาได้พักผ่อนเลย อยากมาร่วมกิจกรรมพร้อมๆกับคนอื่นๆมากกว่า” พี่ทุ่งดินบอก…. “แต่มีข้อเสียมันก็ต้องมีข้อดี เราก็ได้ฝึกไง ฝึกทั้งการทำงาน ฝึกยับยั้งชั่งใจตนเอง บางทีเราอยากพัก ง่วงนอน แต่ก็ทำงานให้เสร็จตามกำหนด โรงเรียนทั่วไปเค้าอาจจะไม่ได้สอนสร้างเรือแบบนี้มั้ง?  ได้ฝึกความสาสมัคคีกันด้วย จะมาหลบงาน เอาเปรียบหมู่กลุ่มไม่ได้”

วันนี้แดดแรง มีลมอ่อนๆ ลมและคลื่นก็เป็นอุปสรรคต่อการจัดขบวนและการเดินเรือเหมือนกัน คนขับเรือจะต้องมาประชุมร่วมกันว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร ทำความเข้าใจตกลงกัน เรื่องต่างๆ เช่น สัญลักษณ์สีของธงที่ใช้ในการเดินเรือ การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ การซ้อมจัดขบวนเรือก่อนที่จะถึงวันงานจริง จำกัดจำนวนคนของเรือแต่ละลำ(นั่งมากเดี๋ยวเรือจม เพราะเรือท้องแบนจะไม่พลิกคว่ำ แต่เมื่อรับน้ำหนักไม่ไหว เรือรั่วน้ำเข้ามาก็จะจมลงไปดื้อๆ เลยล่ะ) มีคนมาช่วยงานเล็กๆน้อยๆ อยู่หลายคน บางคุ้นเคยกันมาก่อนแล้ว บางคนเพิ่งจะ

เคยเห็นหน้า แต่ไม่ว่าจะเห็นหน้ากันมาแล้วหรือเพิ่งจะเคยเห็นก็ตาม เราก็สนิทสนมกันเหมือนญาติสนิท มีรุ่นพี่ในฐานเราคนนึง ถือกล้องติดเรือไปกับเขาด้วย มีคนชวนผมเหมือนกัน แต่ไม่ละ ผมไม่ค่อยสันทัดเรื่องน้ำๆ เรือๆ สักเท่าไร

ขออย่าให้เป็นแบบนี้เลย

ความเป็นหนึ่งเดียวของทีมงาน การเรียนรู้ร่วมกัน การทุ่มแรงกายแรงใจ นี่แหละมั้ง? ที่จะทำให้งาน “ธรรมยาตรา นาวาบุญนิยม” ในครั้งนี้ผ่านพ้นไปด้วยดี

ผมนึกชื่มชมพวกเค้าเหล่านั้น เป็นผมผมคงทำไม่ได้หรอก เชื่อดิ

เดินกลับไปทางเฮือนสุดชีวิต(คนละทางกับทางที่มา) กะว่าจะวนกลับไปอีกเส้นทางหนึ่งสักหน่อย แม้จะเป็นตอนกลางวันแสกๆ ก็ยังดูวังเวงอยู่ดีสำหรับสายตาผม(ผมยิ่งขวัญอ่อนๆ อยู่ซะด้วย)

สักพักก็เดินสวนกับพี่ปวช. ปี1 (ที่ท่านหินกลั่นถามหาแล้วไม่เจอนั่นแหละ) เพื่อนผมคนนึงวิ่งอุ้มลูกแตงโมตามหลังมาติด ผมเหลียวหลังตาม นึกสงสัยว่า “หนีอะไรมาฟระ?” หันกลับมามองข้างหน้าถึงได้ประจักษ์ พ่อท่าน(สมณะโพธิรักษ์)ขับรถพลังงานไฟฟ้าชื่อว่า “ลูกหล่า” มาทางนี้ ท่านปัจฉาสมณะ(สมณะผู้ติดตาม)ก็นั่งมาด้วยกับโยมอีกคนนึง ฝุ่นคลุ้งมาเชียว ผมก้มลงกราบ เพื่อนวิ่งหายลับไปแล้ว เป็นผมก็คงวิ่งหนีเหมือนกัน(เวลาคนเราทำอะไรไม่ดีๆ ก็มักจะหวาดกลัวและหลีกหนีความดี ว่าไหมครับ?)
                       
ผมกลับขึ้นมาที่ชั้น 3 เฮือนศูนย์ ห้องคอมที่ทำงานของผมอีกครั้ง เพื่อนคนเดิมก็วาดการ์ตูนเพื่อขึ้นเว็บไซต์อยู่ วันๆไม่ทำอะไร วาดอยู่ได้ทั้งวี่ทั้งวัน ก็เป็นงานของเค้าล่ะนะ  ผมนั่งลงย่อยอารมณ์ ตกผลึกความคิดที่เพิ่งจะได้รับมา เคยเป็นเหมือนผมไหมครับ บางทีคิดออกได้ออกดี แต่พอจะเขียนทีหลังดันลืมซะได้ พอตั้งใจจะเขียนจริงๆ ดันคิดอะไรไม่ออกซะได้ เฮ้อ… แย่จริงแฮะ

เรื่อง : เด็กชายเพียงตะวันพุทธา

ขอขอบคุณรูปภาพจาก ฐานสื่อบุญนิยม

ข้างเคียง

บอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆของหมู่บ้านราชธานีอโศกในเดือนมกราคม 2555 โดยนักเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศก

ผ่านรูปแบบการ์ตูน โดยด.ช.ม่อน ชั้น ม.2         สัมผัสบรรยากาศงานโพชฌังคาริยสัจจายุ

รู้จักกับ ว.บบบ.    สมัคร ว.บบบ   ค้นหาความหมายในงานโพชฌังคากับ เต๊าะแต๊ะ ม. 5 ในหัวข้อ   ตุงในงานโพชฌังคาริยสัจจายุ   เล่าเบื้องหลังงานโพชฌังคาริยสัจจายุที่หลายคนไม่ได้สัมผัสจาก ด.ช. โอม ม.2 มุมเล็กๆในงานโพชฌังคา ตอน 1 มุมเล็กๆในงานโพชฌังคา ตอน 2

มาสัมผัสหมู่บ้านราชธานีอโศกใน รู้จักกับหมู่บ้านราชธานีอโศก มุมเล็กๆในหมู่บ้านราชธานีอโศก ตอนที่ 1  และ ตอนที่ 2

ข้างเคียง

“ตุง”หรือธงมีรูปร่างเป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้า ตุงเป็นสัญลักษณ์แสดงความเชื่อต่างๆเช่นตุงการนำมีการแบ่งเป็น๗ช่อง หมายถึงสวรรค์๗ชั้น และการนำตุงไปแขวนในงานศพคนตายโหง เพราะเชื่อว่าวิญญานจะเกาะชายตุงขึ้นสวรรค์ ตุงมักถูกนำไปใช้ในงานเฉลิมฉลองทำให้ดูสวยงาม เป็นสิริมงคลเพิ่มความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมนั้นๆ

ประเภทของตุง                                                                                                                                           1.ตุงช่อ ทำด้วยกระดาษสี ใช้ปักตกแต่ง                                                                                              2.ตุงร้อยแปด ทำด้วยกระดาษ สีใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์                                                                3.ตุงค่าคิง ทำด้วยกระดาษว่าวสีขาว ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์และสงกรานต์                             4.ตุงใส้หมู ทำด้วยกระดาษสี ใช้ในงานสงกรานต์และพิธีทางศาสนา                                          5.ตุงใย ทำด้วยเส้นด้ายหรือไหม ใช้แขวนหน้าพระพุทธรูป                                                            6.ตุงเปิง เป็นตุงประจำปีเกิด                                                                                                                   7.ตุงไชย ทำด้วยผ้าสียกเว้นสีดำ มีลักษณะยาวใช้ในการฉลองวัด                                               8.ตุงสามหางทำด้วยผ้าขาวหรือผ้าแพร ใช้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย                                      9.ตุงกระด้าง ทำด้วยไม้หรือโลหะ ใช้เป็นเครื่่องประกอบพิธีกรรม

ในงานโพชฌังคาริยสัจจายุนี้ ก็ได้มีญาติธรรมจากภูผาฟ้าน้ำได้นำตุงจากภาคเหนือ มาร่วมสมทบกับตุงจากทางทีมงานญาติธรรมบ้านราช เข้าร่วมประดับตกแต่งภายในงานโพชฌังคาริยสัจจายุนี้ด้วย  แต่ในงานโพชฌังคาริยะสัจจายุนี้มีตุงที่ทำขึ้นพิเศษ เพื่องานนี้โดยเฉพาะคือตุงนี้รูปร่างแบบนี้

ตุุงนี้มีความหมายอย่างไร จึงเป็นหน้าที่ของหนูที่ต้องไปตามหา เริ่มแรกตัวหนูก็ได้ไปตามหาผู้ออกแบบ และได้คำตอบมาว่าสีของผ้านั้นตอนแรกไม่ได้มีความหมายอะไร แต่เพราะคนซื้อผ้ามาผิดสี จึงได้ดูเป็นสีส้มๆและมันก็เป็นอจินไตยว่าสีส้มหมายถึง สีแดง+สีเหลือง คือการลดทิฏฐิมาร่วมกัน   และเลข๗๗ ๗ ๗ที่กลายร่างเป็นรูปคนนั้น แทนคนหนึ่งคนมีเลข๗ ๔ตัวมาบรรจบกับอายุ และทำกิจกรรมอยางหนึ่่งให้เกิดความตั้งมั่นในอนาคต

และซุ้มที่ร้อมกรอบ อยู่ถ้าสังเกตุดีไจะเห็นได้ว่าทั้งสองฝั่งไม่เหมือนกัน ออกแบบให้เป็นความหลากหลายไม่เหมือนกัน มาช่วยเป็นองค์ประกอบร่วมกัน

และลายยุ๊กยิกที่อยู่หลักฉากคือจักจั่นแปดตัวมาสุมหัวกัน ประกาศเสียงร้องแซซ้อนสรรเสริญกึกก้องเกรียงไกรอะไรประมาณนั้น แต่ลายจั๊กจั่นนี้มีในตุงเพียงหนึ่งผืนเท่านั้นคือตุง

ตัวหนูเองก็ยังไม่เข้าใจเท่าไรนัก ในเรื่องรายละเอียดของตุงนั้นตัวหนูก็ไม่คอยรู้เรื่องมากนัก หากข้อมูลอะไรผิดพลาดก็ขออภัยไวด้วยนะค่ะ

เรื่องโดยน.ส.ขวัญข้าว อัมพุช ชั้น ม.5  ภาพ ถ่ายเองบางภาพที่เหลือยืมมาจากอามดถึงดินค่ะ

ข้างเคียง

9/1/2012

ในระหว่างที่งาน “โพชฌังคาริยสัจจายุ” กำลังดำเนินไปได้เรื่อย ผมก็นั่งคิดไม่ออกอยู่หน้าจอ  Samsung ที่กำลังเปิดอยู่สว่างจ้า เพิ่งกลับมาจากการออกไปหาข้อมูลข้างนอกมาหยกๆ ไม่รู้จะเขียนอะไรดี บนอินเตอร์เน็ตก็ไม่ค่อยจะมี (ก็เพราะมีแต่ในวงการชาวอโศกเท่านั้นนี่) จะถามผู้รู้ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครว่างสักเท่าไรนัก ทุกคนทุ่มเทให้กับงานนี้กันหมด

ข้างๆผมก็มีพี่คนหนึ่งตัดต่อวิดิโอเกี่ยวกับธรรมยาตราอยู่ คลิ๊กนู่นคลิ๊กนี่จนผมมองตามแทบไม่ทัน เพื่อนผมอีกคนก็นักนั่งการ์ตูน ว.บบบ ในคอมฯอยู่ ออกมาก็สวยดีไปอีกแบบ ส่วนอามด(อาผู้ดูแลฐานคอมฯ)  ก็เพิ่งจะกลับจากการไปประสานงานอะไรๆหลายที่ แล้วมานั่งคุยกับพี่ธวัช(ฐานสื่อฯ) และท่านฟ้าไท ฟังไปๆ ก็เพลินๆดีเหมือนกัน

ขอขอบคุณ รูปภาพจาก writer.dek-d.com

ขอขอบคุณ รูปภาพจาก writer.dek-d.com

ไม่นานนักอามดก็มาชวนให้ผมไปฟังทีม FMTV เค้าประชุมกับทีมเรีอกัน เรื่องธรรมยาตรา นาวาบุญนิยม (เค้าจะเอาคนเป็นพัน มาขึ้นเรือล่องแม่น้ำมูลกัน) ผมซึ่งกำลังจนปัญญาอยู่ก็เหมือนได้รับแสงสว่างส่องนำทาง ผมก็กล้าๆกลัวๆ แฮะ ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับทีม FMTV สักเท่าไร ผมเลยอ้อมไปทางด้านหลังห้องแทน ก็เจอกับพี่ฐานสื่อฯ คนนึง หลับคาหูฟังอิงพนักพิงเก้าอี้อยู่ เปิดโปรแกรมตัดต่อวิดิโอทิ้งไว้ สงสัยคงจะอดหลับอดนอนทำงานจนดึกๆ ดื่นๆล่ะมั้ง?

ระหว่างที่นั่งรอสมาชิกคนอื่นๆที่ยังไม่มานั้น ก็มีการพูดคุยกันเล่นๆ เป็นการผ่อนคลายเล็กๆน้อยๆ ท่่านสมณะมาร่วมประชุมด้วยเช่นกัน

เนื้อหาการประชุมก็คือว่า จำนวนคนที่มาสมัครล่องเรือ “ธรรมยาตรา นาวาบุญนิยม” มีเยอะมากจึงต้องหาเรือมาเพิ่ม มีเรือสำราญ 4 ลำ ใช้ได้ลำนึง ก็คือ 777 คนก็ยังขึ้นได้ไม่ครบ นี่คือเท่าที่ผมพยายามฟังและสรุปมาได้

เรือไฉไล สันติ

เรือไฉไล สันติ

-มีเรือฉลาดใช้นำขบวน ตามเรือไฉไล สันติ และเรือกระแชง ส่วนเรือท้องแบน แต่ละขบวนห่างกัน 15 ม. แต่ละลำห่างกัน 20 ม.

-ตั้งแต่เรือกระแชงลำเแรก “แงกเบิ่งแหน่” จนถึง”ชลาชล” จะติดกันเป็นแถวเป็นแนวด้วยเชือก ผู้ดูแลเรือแต่ละลำต้องเตรียมมีดอีโต้(เอาไว้ตัดเชือก)ไปด้วย เผื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

-จะประมาทไม่ได้ เรือท้องแบนที่นั่งได้ ลำละ 40 คน ก็ลดลงเหลือ ลำละ 35 คน เพื่อที่จะได้ไม่อึดอัดกันเกินไป (ทั้งขบวนก็น่าจะได้ประมาณ 1170 คน)

-จะมีเรือท้องแบน 28 ลำ แต่ละลำจะมีไม้พายและน้ำมันสำรองไปด้วย

-ระยะทางประมาณไปกลับประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

-ตั้งหัวขบวนที่เฮือนโสเหล่ แล้วค่อยเดินไปริมมูล ผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กเล็กเด็กน้อยจะไปรอที่ท่าเรือริมมูลก่อนก็ได้ เพราะถ้ามาเดินด้วยก็อาจจะไม่ไหว

-พ่อท่านจะพาสวดอิติปิโส ก่อนขึ้นเรือ กลางน้ำ แล้วก็ก่อนกลับ

สักพักพ่อท่านก็มาร่วมประชุมด้วย และยังบอกอีกว่า “เราไปอย่างสงบไม่ต้องเอากลองยาว เอาโปงลางไป ไม่ต้องไปอึกทึกคึกโครม ต๊ะลุ้งตุ้งแช่อะไรไปหรอก เราไปอย่างสงบนี่แหละ เอาความสงบไปทำให้คนตื่น” ฟังแล้วมีนัยยะที่ลึกซึ้งจริงๆ

พ่อท่านก็ร่วมประชุมไปกับ ทีมทำเรือและทีม FMTV ด้วยอารมณ์ขันของพ่อท่าน ก็ทำให้สามารถชักนำเสียงหัวเราะของเราได้ง่ายๆ ใครหลายคนก็คงจะคิดว่า ชางอโศกปฎิบัติธรรมเคร่ง ผู้นำชาวอโศกก็คงจะเคร่งเครียดไปด้วย

ถ่ายทอดประสบการณ์โดย ด.ช.เพียงตะวัน พุทธา ม.2 โรงเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศก

ข้างเคียง

งานโพชฌังคาริยสัจจายุ จัดที่หมู่บ้านราชธานีอโศ เป็นงานที่เปิดรับให้ทุกๆคนร่วมงานได้ ไม่ใช่แค่ชาวอโศกเท่านั้นที่ร่วมงานได้ แต่เป็นงานที่เปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมฝึกฝนตนเองในระดับศีล ๕  ข้อ ๑ คือมีใจเมตตาช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์และผู้อื่น  ข้อ ๒ มีจิตเสียสละ ไม่โลภ ไม่ขโมยไม่วิสาสะของของผู้อื่น  ข้อ๓ ระมัดระวังจิตใจไม่ให้เข้าใกล้กาม ไม่ล่วงเกินเพศตรงข้าม ข้อ๔ ระมัดระวังในการพูด ไม่พูดคำหยาบโกหกส่อเสียดเพ้อเจ้อ  ข้อ๕ ละอบายมุข ๖ คือทางแห่งความฉิบหาย ๖ทาง ได้แก่ ๑เสพของมึนเมาให้โทษ  ๒ เที่ยวกลางคืน  ๓เที่ยวดูมหรสพการละเล่น  ๔ เล่นการพนัน  ๕ คบคนชั่วเป็ฯมิตร  ๖ เกียจคร้านการทำงาน

งานโพชฌังคาริยสัจจายุนี้จัดขึ้น ในวันที่๑๑ -๑๓เดือน มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕เนื่องจากวันที่ ๑๑ เป็นวันที่พ่อท่านสมณะรัก  โพธิรักขิโต อายุครบ ๗๗ปี ๗ เดือน ๗ วัน เลข ๗ เป็นเลขที่มายถึงการเกิดที่ยิ่งใหญ่ วัน ๗๗ ไม่มี เพราะอย่างมากมีแค่ ๓๑ วัน เป็นเดือน ๗๗ ก็ไม่มีอย่างมากก็แค่ ๑๒ เดือน มีแต่ปีเองเท่านั้นที่เป็น ๗๗ ปีได้ งานโพชฌังคาริยะสัจจายุจึงเป็นงานอนุสรณ์สำคัญของวัน “วัฏฏวัตร”หมายความถึงวันแห่งเลข ๗ซึ่งเลข๗ก็คือเลขที่หมายถึงวาระแห่งการเกิดขึ้นเป็น “วงวน”ของทุกสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมโดยเฉพาะวันแห่งเลข๗ ถึง๔ ตัวซึ่งเป็นเลขที่หมายถึง อาริยะสัจ ๔ของพระพุทธเจ้าด้วย  คำว่าโพชฌังคาริยสัจจายุมาจากการสนธิคำ    ระหว่างโพชฌงค์+อาริยะสัจ จึงได้คำว่าโพชฌังคาริยะ ส่วนคำว่าสัจจายุ คือคำว่า อาริยะสัจ+อายุ

โพชฌงค์ ๗ คืองค์แห่งการตรัสรู้ คือเครื่องย่ำยีมาร(กิเลส) พระพุทธเจ้าปรากฏโพชฌงค์ ๗ จึงปรากฏได้                                                                                                                                              ๑.สติสัมโพชฌงค์(การละลึกรู้เเจ้งกิเลส)เปรียบเสมือนจักรแก้ว                                                ๒.ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์(พิจารณาแยกเแยะกิเลส)เปรียบเสมือนช้างแก้ว                            ๓.วิริยะสัมโพชฌงค์(ความพากเพียรลดละกิเลส)เปรียบเสมืนม้าแก้ว                                         ๔.ปิติสัมโพชฌงค์(อิ่มใจกำจัดกิเลสได้)เปรียบเสมือนแก้วมณี                                                      ๕.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์(สงบใจจากกิเลส)เปรียบเสมือนนางแก้ว                                                 ๖.สมาธิสัมโพชฌงค์(ได้สภาวะจิตตั้งมั่น)เปรียบเสมือนคหบดีแก้ว                                              ๗.อุเบกขาสัมโพชฌงค์(จิตเที่ยงธรรมเป็นกลาง)เปรียบเสมือนปรินายกแก้ว

อาริยสัจ๔                                                                                                                                                     ๑.ทุกข์อาริยสัจ(รู้แจ้งทุกข์)อุปทานขัน ๕ ล้วนเป็นทุกข์                                                                  ๒.ทุกสมุทัยอาริยสัจ(รู้แจ้งเหตุให้เกิดทุกข์)ตัณหาสามเป็นเหตุ                                                    ๓.ทุกขนิโรธอาริยสัจ(รู้แจ้งความดับทุกข์)ราคะดับตันหาสิ้นโดยไม่เหลือ                                  ๔.ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอาริยะสัจ(รู้แจ้งข้อปฏิให้ถึงความดับทุกข์)  คืออาริยะมรรคมีองค์๘

งานโพชฌังคาริยสัจจายุจึงถือเป็นวันพิเศษแห่งปี ของของคนที่ตั้งอยู่ในความรำลึก  ขอย้ำอีกว่างานนี้ไม่ใช่งานของคนเก่าหรือชาวอโศกเท่านั้น ท่านผู้ใดที่สนใจจะมาร่วมงานนี้ ขอเชิญมาร่วมงานได้ที่พุทธสถานราชธานีอโศก หมู่ที่ ๑๐ ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ข้างเคียง

วันที่๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕ ณ ชั้นสองเฮือนศูนย์สูญ วันนี้ทุกๆคนมาช่วยกันเตรียมพื้นที่สำหรับ จัดนิทรรศการ “เส้นทางโพธิสัตว์” เพื่อแสดงในงานโพชฌังคาริยสัจจายุ ในวันที่ ๗-๑๓ มกราคมที่จะถึงนี้ งานที่ทำในวันนี้มีคนทุกฐานะมาช่วยกัน

ท่านสมณะเเละป้ากรัก ล้างพื้นฝั่งทิศใต้ของเฮือนศูนย์สูญ

อีกทางหนึ่งน้องสมุนพระรามมาช่วยกวาดพื้น

ทางด้านสิกขมาตุ ก็พาน้องนักเรียนสัมมาสิกขาปฐมอโศก ๕ ส. ห้องเมี่ยนของเก่า

ทางฝ่ายจัดนิทรรศการกำลังวางแผนรายละเอียดของการเตรียมสถานที่

พี่ศิษย์เก่ามาช่วยทาสีเสาให้เป็นสีน้ำตาล  พี่เขาบอกว่าที่ต้องทาเสาเป็นสีน้ำตาลเพื่อให้ตรง concept ที่ใช้โทนสีนี้

น้องสัมมาสิกขาสันติอโศก ร่วมด้วยกันทาสีบอร์ดจัดนิทรรศการ

ผู้ใหญ่มาทาสีที่สูงๆเป็นตัวอย่างให้นักเรียนดู

การโฮมแฮงครั้งนี้ ก็มีนักเรียนฐานสื่อมาเก็บข้อมูลไว้ด้วย

เหนื่อยนัก พักสักนาที

 

ผลของงานจากการโฮมแฮงในวันนี้ อาจยังไมเสร็จสมบูรณ์นัก แต่วันนี้ทุกคนที่มาโฮมแฮงร่วมกัน ทำให้งานจัดนิทรรศการก้าวหน้าไปอีกนิด ซึ่งงานบุญครั้งนี้เกิดจากจิตเสียสละของทุกๆคน

ภาพและเรื่อง โดยน.ส.ขวัญข้าว อัมพุช สัมมาสิกขาราชธานีอโศก ม.5

ข้างเคียง

14:30 น.วันที่ 3 มกราคม 2555 วันนี้อากาศไม่ร้อนมากนัก คุรุฝั่งบุญ(คุรุฝ่ายพัฒนาชุมชน)กับรถเข็น 1 คัน เดินตามถนนสายกลางของหมู่บ้านราชธานีอโศก

แล้ว@_@!! สายตาของคุรุฝั่งบุญก็เหลือบไปเห็นนักเรียนสัมมาสิกขากลุ่มหนึ่ง กำลังขนของลงจากรถ ไปที่บริเวณที่ทิ้งขยะ

สงสัยจะเป็นความบังเอิญที่คุรุฝั่งบุญก็มาขนขยะแห้งไปทิ้ง จึงมีนักเรียนสัมมาสิกขาคนหนึ่่ง มาช่วยคุรุฝั่งบุญขนขยะแห้งขึ้นรถแข็นจนเสร็จ

งานขนขยะของชุมชนก็ผ่านไปด้วยความรวดเร็ว เนื่องจากทุกๆคนช่วยกันคนละนิด คนละหน่อย

แค่นี้ชุมชนราชธานีอโศกของเรา ก็แลดูสะอาดตาขึ้นอีกนิด                                                     “นี่แหละพลังสาธารณโภคี”

ภาพและเรื่องโดย น.ส.ขวัญข้าว อัมพุช สัมมาสิกขาราชธานีอโศก ม.5

ข้างเคียง

ชุมชนราชธานีอโศกอยู่ที่ หมู่ 10 ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี  ชุมชนแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 550 ไร่ เป็นพื้นที่ราบลุ่มติดริมแม่น้ำมูล จึงทำให้เกิดภัยธรรมชาติ ทุกๆปี คือน้ำท่วม ทำให้ชุมชนนี้มีการรับมือโดยการสร้างบ้านใต้ถุนสูง สร้างเรือ และทำแพผักทำให้อยู่รอดได้ในยามน้ำท่วม

วีถีชีวิตในชุมชนแห่งนี้เป็นแบบพึ่่งพาอาศัยกัน โดยทุกคนจะกินอยู่ร่วมกัน มีทั้งชุมชน โรงเรียนและวัด  มีครัวกลาง มีสวัสดิการ ให้กินใช้ร่วมกัน

รายได้ในชุุมชนเกิดจากฐานงานที่แต่ละคนอาสาทำงานตามสมัครใจ โดยมีชาวชุมชนเป็นแม่ฐานและมีนักเรียนเป็นลูกฐาน งานในชุมชนเช่นพานิชบุญนิยม มีร้านอาหาร โรงสีโรงปุ๋ย

กสิกรรมธรรมชาติ มีสวนปลูกพืชผักผลไม้ต่างๆ และหากมีงานเร่งด่วน จำเป็น เราจะมาช่วยกันโฮมแฮง โดยไม่แยกว่าเป็นฐานใด และการทำงานของแต่ละฐานจะมุ่งไปเพื่อพัฒนาชุมชน

เนื่องจากชุมชนแห่งนี้เป็นการอยู่แบบ”บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ผู้ที่อยู่ในชุมชนแห่งนี้ทุกคนจึงต้องรักษาศีล5เป็นอย่างต่ำ ละอบายมุข และทานอาหารมังสวิรัติ

การแต่งกายของชุมชนนี้เป็นแบบพื้นบ้านคือสวมเสื้อแขนกระบอก ฝ่ายชายจะสวมกางเกงทรงไทยใหญ่ ฝ่ายหญิงสวมผ้าถุง เดินเท้าเปล่าไม่ใส่เครื่องประดับ ไม่แต่งหน้า มีสมบัติไม่เกินความจำเป็น

 การกินอยู่แบบชุมชนนี้คือสาธารณโภคี เป็นการทำงานเพื่อส่วนกลางเเละส่วนกลางสะพัดให้ชุมชน